เรียนรู้ สร้างสรรค์ สานความพอเพียง

ข้อมูลท้องถิ่น


 วัดไร่ขิง วัดไร่ขิง อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน สร้างโดย "สมเด็จพระพุทธฒาจารย์(พุก )"หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธาน ที่ชาวนครปฐมเคารพนับถือ ระหว่างวันขึ้น13คํา ถึงแรม 3คำ เดือน5 และช่วงเทศการตรุษจีนทุกปี จะมีงานเทศกาลนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิงประจำปี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของชาวนครปฐม

วัดไร่ขิงแต่เดิมเป็นวัดราษฏร์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ตั้งติดอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี(ท่าจีน) สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 วัดไร่ขิงปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ 51 หมู่ที่ 2 ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่วัดและพื้นที่ธรณีสงฆ์รวม 244 ไร่ 89 ตารางวา ลักษณะพื้นที่ของวัด เป็นรูปสี่เหลี่ยม ทิศเหนือด้านหน้าวัดสร้างเขื่อนกั้นริมแม่น้ำตลอดแนว ทิศใต้และทิศตะวันออกสร้างกำแพงล้อมตลอดพื้นที่ของวัด ในอดีตพื้นที่บริเวณได้มีผู้เล่าต่อกันมาว่า มีชาวจีนปลูกบ้านอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก และนิยมปลูกขิงกันอย่างแพร่หลายจ นเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านหรือชุมชนในแถบนี้ว่า “ไร่ขิง” ต่อมาเมื่อมีชุมชนหนาแน่นมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการสร้างวัดเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิ ตใจของชาวบ้าน ดังนั้นวัดจึงได้ชื่อตามชื่อของหมู่บ้านหรือชุมชนว่า “วัดไร่ขิง” สืบมาในราวปี พ.ศ. 2446 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เสด็จตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน สมเด็จฯ ได้เสด็จมาที่วัดไร่ขิง และได้ทรงตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดมงคลจินดาราม” ทั้งทรงใส่วงเล็บชื่อเดิมต่อท้ายจึงกลายเป็น “วัดมงคลจินดาราม(ไร่ขิง)” เมื่อเวลาผ่านพ้นมานาน และคงเป็นเพราะความกร่อนของภาษาจีนทำให้วงเล็บหายไป คงเหลือเพียงคำว่า “ไร่ขิง” ต่อท้ายคำว่า “มงคลจินดาราม” จึงต้องเขียนว่า “วัดมงคลจินดาราม-ไร่ขิง” แต่ในทางราชการยังคงใช้ชื่อเดิมเพียงว่า “วัดไร่ขิง” สืบมาจนทุกวันนี้ ประวัติการสร้างวัดไร่ขิง คนรุ่นเก่าได้เล่าสืบต่อกันมาว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2394 ซึ่งอยู่ระหว่างปลายรัชกาลที่ 3 กับต้น รัชกาลที่ 4 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก ป.ธ.3) ซึ่งเป็นชาวเมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี เมื่อครั้งที่ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ “พระธรรมราชานุวัตร” ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร รูปที่ 5 ต่อมาท่านได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิงและวัดดอนหวาย ซึ่งเป็นบ้านโยมบิดา และมารดาของท่าน นอกจากนี้ในหนังสืองานนมัสการปิดทองหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี พ.ศ. 2533 ได้กล่าวไว้ว่า “การก่อสร้างวัดไร่ขิงยังไม่เสร็จสมบูรณ์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) มรณภาพลง ดังนั้นงานทุกอย่างจึงตกเป็นภาระของพระธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺทโชโต) เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ซึ่งเป็นหลานชายของท่าน” สมเด็จพระพุฒา จารย์ (พุก) มรณภาพในรัชกาลที่ 5 เมื่อปี วอก พ.ศ. 2427 รวมสิริอายุ 91 ปี พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 9 เมษายน ตรง กับวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา พ.ศ. 2428 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มาพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุพิเศษวัดศาลาปูน อนึ่ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้สร้างวัดไร่ขิงขึ้นเมื่อปีกุน พ.ศ. 2394 ในรัชกาลที่ 5 เมื่อท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ “พระธรรมราชานุวัตร” ขณะเมื่อมีอายุได้ 57 ปี ส่วนพระรธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺโชโต) ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 16 ปีได้ติดตามขึ้นไปอยู่กับสมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) ที่วัดศาลาปูนด้วย ดังนั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) ได้กลับมาสร้างวัดไร่ขิง ท่านจึงต้องกลับมาช่วยสร้างด้วยเช่นกัน ต่อมาเมื่อท่านอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทที่วัดศาลาปูน ครั้งเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) มรณภาพในปี พ.ศ. 2427 ขณะมีอายุได้ 91 ปี ดังนั้นภาระในการปฏิสังขรณ์วัดไร่ขิงจึงตกเป็นของท่าน แต่ไม่ทราบว่า ท่านกลับมาปฏิสังขรณ์วัดเมื่อใด หรือท่านอาจจะมาในปี พ.ศ. 2453 ตอนที่ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมราชานุวัตรก็อาจ เป็นไปได้ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ 75 ปี และเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนรูปที่ 6 ต่อจากสมเด็จพุฒาจารย์ (พุก) อย่างไรก็ตามในการ ปฏิสังขรณ์วัดไร่ขิงในสมัยท่านอยู่ประมาณปี พ.ศ. 2427 หรือ 2453 เป็นต้นมา พระธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺโชโต) ถึงแก่ มรณภาพเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2463 สิริรวมอายุได้ 86 ปี

องค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ ประดิษฐานอยู่บนฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น เบื้องหน้าผ้าทิพย์ปูทอดลงมาองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายใน อุโบสถ หันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร (ทิศเหนือ) ซึ่งหน้าวัดมีแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน จากหนังสือประวัติของวัดไร่ ขิงได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญมาจากวัดศาลาปูน โดยนำล่องมาทางน้ำด้วยการทำแพไม้ไผ่หรือที่เรียกกันว่าแพลูกบวบรองรับองค์พระปฏิมากรณ์ เมื่อถึงหน้าวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดีจึงมีประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมกัน ในขณะที่อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นจากแพ สู่ปะรำพิธีได้เกิดอัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์ก็บังเกิดมีเมฆดำมืดทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนอง และบันดาลให้มีฝน โปรยลงมาทำให้เกิดความเย็นฉ่ำและเกิดความปิติ ยินดีกันโดยทั่วหน้า ประชาชนที่มาต่างก็พากันตั้งจิตรอธิฐานเป็นหนึ่งเดียวกัน ว่า “หลวงพ่อจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนร้ายคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงาม ด้วยธัญญาหารฉะนั้น” ดังนั้น วันดังกล่าวที่ตรงกับวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของคนไทย ทางวัดจึงได้ถือเป็นวันสำคัญ และได้จัดให้ มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปีหลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ตำนานหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้นจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา หรือที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" มีหลายตำนาน ดังนี้

ตำนานที่ 1 ครั้งเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก)ชาวเมืองนครชัยศรี ได้มาตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน ได้เข้าไปใน พระอุโบสถวัดไร่ขิง หลังจากกราบพระประธานแล้ว มีความเห็นว่าพระประธานมีขนาดเล็กเกินไป จึงบอกให้ท่านเจ้าอาวาสพร้อมชาวบ้านไปอัญเชิญมาจากวัดศาลาปูนฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยวางลงบนแบบไม้ไผ่และนำล่องมาตามลำน้ำและอัญเชิญขึ้น ประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 วันสงกรานต์พอดี

ตำนานที่ 2 วัดไร่ขิงสร้างเมื่อปีกุน พุทธศักราช 2394 ตรงกับปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 3 ต้นปี ในรัชการที่ 4 สมเด็จพระพุฒา จารย์(พุก)ซึ่งเป็นชาวเมืองนครชัยศรี ในขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ "พระธรรมราชานุวัตร" ปกครองอยู่ที่วัดศาลาปูน วรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กลับมาสร้างวัดที่บ้านเกิดของตนที่ไร่ขิง เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้วจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป สำคัญองค์หนึ่งจากกรุงเก่า ( จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ) มาเพื่อประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถแต่การสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ท่านได้มรณภาพเสียก่อน ส่วนงานที่เหลืออยู่พระธรรมราชานุวัตร(อาจ จนฺทโชโต) หลานชายของท่านจึงดำเนินงานต่อจนเรียบร้อยและบูรณะดูแลมาโดยตลอดจนถึงแก่มรณภาพ

ตำนานที่ 3 ตามตำนานเป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับมีพระพุทธรูปลอยน้ำมา 5 องค์ก็มี 3 องค์ก็มีโดยเฉพาะในเรื่องที่เล่าว่ามี 5 องค์นั้น ตรงกับคำว่า " ปัญจภาคี ปาฏิหาริยกสินธุ์โน " ซึ่งได้มีการเล่าเป็นนิทานว่า ในกาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมากได้พร้อมใจกันตั้งสัตย์อธิฐานว่า เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ แม้จะตายไปแล้ว ก็จะขอสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้ได้พ้นทุกข์ต่อไปจนกว่าจะถึงพระนิพานครั้งพระอริยบุคคลทั้ง 5 องค์ ได้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าไปสถิตในพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์จะมีความ ปรารถนาที่จะช่วยคนทางเมืองใต้ที่อยู่ติดแม่น้ำให้ได้พ้นทุกข์ จึงได้พากันลอยน้ำลงมาตามลำน้ำทั้ง 5 สาย เมื่อชาวบ้านตามเมืองที่ อยู่ริมแม่น้ำเห็นเข้า จึงได้อัญเชิญและประดิษฐานไว้ตามวัดต่างๆ มีดังนี้

พระพุทธรูปองค์แรก ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ขึ้นสถิตที่วัดโสธรวรวิหาร เมืองแปดริ้ว
จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกกันว่า "หลวงพ่อโสธร"

พระพุทธรูปองค์ที่ 2 ลอยไปตามแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน)ขึ้นสถิตที่วัดไร่ขิงเมืองนครชัยศรี
เรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง"

พระพุทธรูปองค์ที่ 3 ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสถิตที่วัดบางพลี เรียกกันว่า
"หลวงพ่อวัดบางพลี" แต่บางตำนานก็ว่า หลวงพ่อวัดบางพลีเป็นองค์แรกในจำนวน 5 องค์
จึงเรียกว่า "หลวงพ่อโตวัดบางพลี "

พระพุทธรูปองค์ที่ 4 ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง
เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม"

พระพุทธรูปองค์ที่ 5 ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเคราเมืองเพชรบุรี
เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"

ส่วนตำนานของเมืองนครปฐมนั้นเล่าว่า มีพระ 3 องค์ ลอยน้ำมาพร้อมกัน และแสดงปาฏิหาริย์จะเข้าไปยังบ้านศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ จึงได้เรียกตำบลนั้นว่า "บางพระ" พระพุทธรูป 3 องค์ลอยไปจนถึงปากน้ำท่าจีนแล้วกลับลอยทวนน้ำขึ้นมาใหม่ จึงเรียกตำบลนั้นว่า "สามประทวน" หรือ "สัมปทวน" แต่เนื่องจากตำบลที่ชาวบ้านพากันไปชักพระขึ้นฝั่งเพื่อขึ้นประดิษฐาน ณ หมู่บ้านของตน แต่ทำไม่สำเร็จ ต้องเปียกฝนและตากแดดตากลมจึงได้ชื่อว่า "บ้านลานตากฟ้า" และ "บ้านตากแดด" ในที่สุดพระพุทธรูปองค์แรกจึงยอมสถิต ณ วัดไร่ขิงเรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ส่วนองค์ที่ 2 ลอยน้ำไปแล้วสถิตขึ้นที่วัดบ้านแหลมจังหวัด สมุทรสงคราม เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" และองค์ที่ 3 ลอยตามน้ำไปตามจังหวัดเพชรบุรี แล้วขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเครา เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"